top of page

คำนาม (Kata Nama)

               ดังที่กล่าวมาแล้วในบทเรียนที่ผ่านมาว่าคำนามนั้นคือคำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ และนามธรรม ในบทเรียนนี้เราจะมาชี้แจงเกี่ยวกับประเภทของคำนาม ในภาษามลายู คำนามนั้นมี 2 ประเภท

      

               1. สามัญนาม/คำนามทั่วไป (kata nama am) กล่าวคือ คำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่อย่างรวมๆทั่วไป อาทิ orang lelaki (คนผู้ชาย) pensyarah (อาจารย์) datuk (ปู่) harimau (เสือ) kerbau (ควาย)  hospital (โรงพยาบาล) kedai runcit (ร้านของชำ) pisau (มีด) และ sudu (ช้อน) เป็นต้น

               2. วิสามัญนาม/คำนามเฉพาะ (kata nama khas) กล่าวคือคำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่อย่างเจาะจง อาทิ Encik Adun (คุณอดุลย์) Puan Zainab (คุณซัยนับ) Bangkok (กรุงเทพ) Kuala Lmpur (กัวลาลัมเปอร์) Melayu (ชนชาวมลายู) Cina (ชนชาวจีน) และอื่นๆ

              

              หมายเหตุ ข้อแตกต่างทางไวยากรณ์ระหว่างคำนามเฉพาะและคำนามทั่วไปที่สำคัญคือ คำนามเฉพาะนั้นอักษรตัวแรกของคำจะต้องเขียนด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่เสมอในทุกกรณี ในขณะที่คำนามทั่วไปนั้นจะเขียนด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ก็ต่อเมื่อมันอยู่ในตำแหน่งเริ่มต้นประโยคเท่านั้น แต่เมื่ออยู่ภายในประโยคก็จะเขียนด้วยอักษรตัวพิมพ์เล็กเสมอ อาทิ Ayam Alina suka makan padi. (ไก่ของอลีนาชอบกินข้าวเปลือก) Alina makan ayam goreng. (อลีนากินไก่ทอด) ในประโยคทั้งสอง ayam เป็นคำนามทั่วไป โดยในประโยคแรกมันอยู่ในตำแหน่งเริ่มต้นประโยคจึงเขียนด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ (Ayam) แต่ในประโยคที่สองมันอยู่ในประโยคจึงเขียนด้วยอักษรตัวพิมพ์เล็ก ส่วนคำว่า Alina เป็นคำนาเฉพาะด้วยเหตุนี้จึงเขียนด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งสองกรณี ทั้งในขณะที่อยู่ภายในประโยคและเมื่ออยู่ในตำแหนงนำหน้าประโยค

 

              นอกจากจะพิจารณาถึงความเจาะจงหรือไม่เจาะจงในการแบ่งประเภทของคำนามแล้วคำนามยังสามารถแบ่งตามโครงสร้างของคำได้ออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

 

               1. คำนามโดด กล่าวคือ คำนามเพียงคำนามเดียวโดยไม่ได้เป็นกลุ่มคำ อาทิ rumah (บ้าน), peniaga (พ่อค้าแม่ค้า), ikan (ปลา), และอื่นๆ

 

               2. คำนามวลี กล่าวคือ คำนามที่เป็นกลุ่มคำตั้งแต่สองคำขึ้นไป อาทิ guru besar (ครูใหญ่), pegawai kerajaan (ข้าราชการ), bilik tidur (ห้องนอน) และอื่นๆ คำนามวลีในที่นี้สามารถสร้างขึ้นโดยการผสมคำนามกับคำคุณศัพท์เช่น guru besar หรือ คำนามกับคำนาม pegawai kerajaan หรือ คำนามกับคำกริยา bilik tidur เป็นต้น

 

               นอกจากนี้คำนามยังสามารถแบ่งตามจำนวนได้เป็นอีก 2 ประเภทดังนี้ คือ

 

               1. คำนามเอกพจน์

               2. คำนามพหุพจน์

 

               คำนามเอกพจน์ คือคำนามซึ่งบ่งบอกจำนวนที่เป็นหนึ่งเดียว ส่วนคำนามพหุพจน์ คือ คำนามซึ่งบ่งบอกจำนวนมากกว่าหนึ่งขึ้นไป คำนามเอกพจน์สามารถเปลี่ยนรูปให้เป็นคำนามพหุพจน์ได้โดยการย้ำคำ อาทิ basikal (รถจักรยาน) basikal-basikal (รถจักรยานหลายคัน) kilang (โรงงาน) kilang-kilang (โรงงานหลายโรงงาน) และอื่นๆ อนึ่งถ้าหากว่าคำนามเอกพจน์หนึ่งๆนั้นเป็นคำนามวลีหรือกลุ่มคำ อาทิ guru besar เวลาต้องการเปลี่ยนให้มีความหมายเป็นพหุพจน์ ก็ให้ย้ำคำที่ส่วนแรกของคำ อาทิ  guru besar (ครูใหญ่) guru-guru besar (ครูใหญ่หลายคน) bilik tidur (ห้องนอน) bilik-bilik tidur (ห้องนอนหลายห้อง) เป็นต้น

 

               หมายเหตุ คำนามบางคำถึงแม้ว่าจะมาในรูปของคำย้ำแต่จะยังคงมีความหมายเป็นเอกพจน์ ดังปรากฎตัวอย่างในรายการต่อไปนี้

 

                    agar-agar (วุ้น)                        angan-angan (ความเพ้อฝัน)

                    anting-anting (ตุ้มหู)              labi-labi (ตะพาบน้้ำ)

                    kura-kura (เต่า)                      biri-biri (แกะ)

                    layang-layang (ว่าว)               oleh-oleh (ของฝาก)

                    kelip-kelip (หิ่งห้อย)               เป็นต้น

 

bottom of page